Total hip replacement เปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

 เมื่อเดือนเมษายน  ที่ผ่านมา ดิฉัน น้องสาวและ น้าผู้หญิง เรา 3คน ไปท่องเที่ยวยุโรปกัน 2 เดือน ตั้งใจไปดูไร่ทิวลิป ไป เยอรมัน และวกเข้ามาที่ปารีส จุดมุ่งหมายคือจะ เดินแสวงบุญที่มีชื่อว่า Camino Frances (Camino เป็นการเดินแสวงบุญ ของชาวคริสต์ ที่จุดหมายปลายทางจะอยู่ที่เมืองหนึ่ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน เป็นที่ที่ร่างของนักบุญเจมส์ถูกฝัง) โดยจะเริ่มเดินจากฝรั่งเศสข้ามเขา Pyrenees ไปยังฝั่งสเปน ระยะเวลาเดินทั้งเส้นทางประมาณ 800 กม จุดหมายปลายทางที่ Santiago de Compostela ซึ่งปีที่แล้วเราได้ประสบการณ์แล้ว จาก Portuguese Way  ปีนี้เราเลยจะเดินข้ามเขาจากฝรั่งเศสไปฝั่งสเปน ประมาณไว้ที่ 80 กม ต่อจากนั้นจะนั่งรถสาธารณะ เพื่อที่จะไปรับรถเช่าที่ Madrid  

ในวันแรกที่เดินทางจากไทยไป Schiphol Airport เริ่มมีความรู้สึกเจ็บที่ขาหนีบด้านซ้าย คิดไปว่าเมื่อวานไปเดินออกกำลังขึ้นเขา เลยทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ แต่จะทำอย่างไรได้ ติดยาแก้ปวดไป ช่วงเวลาสามอาทิตย์ที่อยู่ที่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และ ฝรั่งเศส  มีวันเจ็บมาก เจ็บน้อย ไม่มีวันไม่เจ็บ เพราะเดินทุกวัน พยายามเดินน้อย ๆ เพราะเป็นห่วงกลัวจะไปเดิน Camino ไม่ได้  

เราขับรถไปรับสามีของดิฉันที่ CDG Airport และขับรถลงใต้ของ ฝรั่งเศส เริ่มการเดิน Camino ที่ Saint Jean Pied de Port ใช้เวลาเดิน  3 วัน ข้ามเขา ความสูงที่ 1100 เมตร ประมาณ 40 กม  ระหว่างที่เดินก็ภาวนาขอให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อ ถึงจะเจ็บ ก็ไปได้เรื่อย ๆ มีความสุขค่ะ  ให้สามี น้า และน้องเดินนำหน้า หันมามองดูเราบ้าง ว่ายังไม่หายไปไหน แต่หลังจากนั้นทางเริ่มจะเริ่มเดินยากขึ้น จึงตัดสินใจหยุด และนั่งรถบัสเข้า Pamplona 



 ON CAMINO

สามีดิฉันมีเวลาแค่ 2 อาทิตย์ จึงต้องกลับไทยจาก Pamplona และต้องการให้ดิฉันกลับด้วยเพื่อที่จะได้รักษาได้ทันที แต่ดิฉันปฎิเสธเนื่องจากเป็นคนนำกลุ่ม จะให้ทิ้งน้องและน้ากลับไปได้อย่างไร อีกอย่างการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ เรียกว่ายังทนได้ค่ะ เลยสัญญาว่าถึงเมืองใหญ่ที่มี โรงพยาบาลที่เครื่องมือพร้อม ดิฉันจะเข้าไปรับการรักษา 

ที่เมือง Estella ไป รพ พบหมอได้รับการรักษา Xray คุณหมอที่สเปนบอกว่า ไม่มีอะไรแตกร้าว ไม่ต้องห่วง แต่พบอย่างอื่นแทน หมอบอกยูเป็น Osteoarthritis อะไรแว้ หมออธิบาย กระดูกสะโพกยู เสื่อม ฟังแล้วยังไม่ตกใจ คิดแต่ว่า เสื่อมก็คงปรกติเสื่อมกันทั้งนั้นตามอายุ หมอบอกไม่ต้องเดิน Caminoแล้วนะ ถ้าอยากจะเที่ยวต่อ เที่ยวได้ ไม่มีอันตรายอะไร ปวดก็กินยาแก้ปวดไปตามอาการ

อีกเกือบเดือน เลยเที่ยวตามกำหนดเดิม รับรถเช่า ขับไปเรื่อย แต่แบบ ไม่หักโหม นั่ง ๆ นอนๆ เยอะกว่า ให้น้ากับน้องสาวเที่ยวไป 

กลับถึงไทยวันที่ 13 มิถุนายน วันรุ่งขึ้นไป รพ หาหมอทันที ทำ Xray และ MRI คุณหมอคอนเฟิร์ม ดิฉันเป็นโรคกระดูกเสื่อม ไม่ต้องรักษาอะไร อีก 4-5 ปีก็ได้ ค่อยมาผ่าตัดเปลี่ยน หรือเมื่อไรที่คิดว่าเจ็บจนทนไม่ไหว (ขนาดนั้นเลย!)

ช่วงเวลานั้นก็รู้แล้วว่า ดิฉันต้องเข้ารับการผ่าตัดแน่นอน เพราะไม่สามารถดำรงชีวิตที่เหลือ เดินกระเผลกเพราะความเจ็บปวด จึงศึกษา หาอ่าน google, youtube ทั้งในและนอก  พร้อมกับหาหมอ อีก 5-6 คน จนกระทั่งตัดสินใจว่าจะผ่า และเลือกที่จะผ่ากับหมอที่มี เทคนิคการผ่าที่แตกต่างจากที่ทำกันทั่วไป 

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ทำได้หลายวิธี ผ่าเปิดจากด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วย และความชำนาญของแพทย์ผ่าตัด ซึ่งที่ได้ถามมา ส่วนใหญ่จะผ่าจากด้านหลัง มีพบ 2-3 แห่งที่ผ่าจากด้านหน้า ข้อดีของการผ่าด้านหน้า คือ แผลผ่าจะหายเร็วเพราะผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อ, เจ็บน้อยกว่าทำให้เคลื่อนไหวได้เร็วหลังผ่า,  การนอนหงายสามารถวัดความยาวของขา และ เห็นตำแหน่งได้แม่นยำ,  ภาวะสะโพกหลุดต่ำกว่า  จากที่ได้หาอ่าน เลยตัดสินใจที่จะทำ Direct Anterior Approach คือผ่าจากด้านหน้า เลยมี รพ และ คุณหมอในใจไว้แล้ว

ทันทีที่กลับจาก นอร์เวย์ นัดไปคุยกับคุณหมอ ที่กรุงเทพ หอบผลตรวจจาก รพ ที่ ศรีราชา ไปให้ดูและบอกคุณหมอว่าดิฉันมั่นใจและเชื่อมั่นในคุณหมอค่ะ 

 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เองดิฉันได้เข้าผ่าตัดที่ Bangkok International Hospital รพ มี Package นะค่ะ เหมาะเลย ค่าผ่าตัดรวมค่าห้อง ICU และห้องพักฟื้นหลังผ่า 5 วัน กายภาพ เช้า เย็น  แต่ไม่รวมค่าอุปกรณ์ นั่นหมายถึงข้อสะโพกเทียมที่จะเปลี่ยน แต่ละอย่างมีราคาแตกต่างกันออกไป คุณหมอจะเป็นคนเลือกให้ตามความเหมาะสม

วันแรก  มา รพ เพื่อตรวจสภาพร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการผ่า  ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่กลับมี เส้นกราฟแสดงการเต้นของหัวใจที่ไม่ปรกติเลยต้องให้ เช็คเพิ่มเติม  (ทำ Stress Echo ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่รวมใน package โดนเพิ่มอีก 12,000.-) และผลออกมาปรกติ 


วันรุ่งขึ้น เข้าห้องผ่าตัด 7 โมงเช้า มันรวดเร็วมากเจอหน้าคุณหมอ  พูดคุยกันไม่กี่คำ ก็หลับไม่รู้เรื่อง มาตื่นที่ห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดที่ห้อง ICU (ใช้เวลาในห้องผ่าตัด 1.30 ชม)  ในช่วงที่เข้าห้องผ่าตัด คุณหมอได้ฉีดวิตามินเข้าที่ข้อสะโพกด้านขวาให้ด้วย ซึ่งได้คุยกันไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเกรงว่าข้างขวาอาจจะเริ่มมีความเสื่อมเหมือนข้างซ้าย  (ค่าใช้จ่ายประมาณ20,000 บาท ไม่รวมใน package) หลังผ่านอนที่ ICU อาการหลังผ่าตัดคือชา ไม่มีความเจ็บปวดเลย  มีพลาสเตอร์ปิดแผล ใหญ่ 10 x 20 cm อยู่ที่ หน้าขา ประมาณ 1 นิ้ว ขนาน เป็นทางยาวกับขาหนีบ แต่แผลจริงยาวประมาณ 10 cm  หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาถ่าย Xray  สะโพก ด้านหน้าและด้านข้าง

Ceramic Femoral Head on Plastic Polyethylene


วันที่ 2 ของการผ่า ย้ายเข้าห้องพักฟื้น ช่วงบ่ายนักกายภาพมาช่วยให้ออกกำลังส่วนขา และให้ลุก หัดเดินเลย ผลดีของการผ่าด้านหน้า คนไข้สามารถลุกเดินได้ไว 

วันที่ 3 ของการผ่า ไม่เจ็บแผล แต่มีอาการวิงเวียนจนหมอให้หยุดยาแก้ปวด ช่วงเช้า และบ่าย ทำกายภาพ ลุกขึ้นอาบน้ำได้  ขาบวมเล็กน้อย อาจเพราะเดินเยอะ เลยต้องประคบเย็น และยกขา

วันที่ 4 ของการผ่า หน้าขาที่ชาก็มีอาการเจ็บระบม แต่เป็นเรื่องปรกติ เพราะผ่าตัดต้องมีเครื่องมือต่างๆ ดึง วันนี้คุณหมอเปลี่ยนผ้าปิดแผลให้ 

วันที่ 5 ของการผ่า เหมือนเดิม นักกายภาพ สอนท่าขึ้นลงบันได และ ขึ้นลงรถยนต์ และให้เลือกเครื่องค้ำยันที่จะเอากลับบ้านได้ 1 ชิ้น (อยู่ใน package) เลยเลือกเป็น ไม้ค้ำยัน

รุ่งขึ้นเตรียมตัวกลับบ้านแต่เช้า แต่กว่าจะได้กลับ คือบ่าย คุณหมอมาแต่เช้า  ส่งเรื่องให้ประกันและต้องรอประกันส่งเรื่องกลับมา  ราคา package ผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกของดิฉัน  525,000 บาท (รวมอุปกรณ์)  ส่วนเกินประมาณ 40000 กว่าบาท เป็นค่าห้องที่เกินและค่าเข้าเยี่ยมของคุณหมอแต่ละท่าน ที่เข้ามาตรวจวินิจฉัยคนไข้ แต่ละครั้ง ตลอด 5 วันที่เราพักฟื้น (ไม่รวมใน package ซึ่งเกินวงเงินประกันที่ทำไว้)

สามอาทิตย์หลังผ่า กลับมาพบคุณหมอ ดิฉันเดินคล่องขึ้นมาก แต่ยังใช้ไม้ค้ำยัน ซึ่งก็ยังรู้สึกเจ็บที่ข้อสะโพกเล็กน้อยจึงต้องระวังไม่เดินมากจนเกินไป แผลแห้งสนิทแล้ว คุณหมอบอกว่ายังไม่ควรออกกำลังกาย แค่เดินทำกิจวัตรประจำวันได้ และนัดอีก 2 เดือน มา Xray ดูว่าอุปกรณ์เชื่อมกับกระดูกดีหรือยัง


สรุป

คุณหมอไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกเสื่อม ตามปรกติผู้หญิงเอเซีย ส่วนน้อยที่จะเป็น ซึ่งจะมีสาเหตุจาก การบาดเจ็บจาก อุบัติเหตุบ้าง จากแอลกอฮอล์ หรือจากโรคเกาต์ รูมาตอยด์ หรือแม้แต่การใช้งาน หรือจากพันธุกรรม  การที่ไปเดินแค่เป็นการกระตุ้นการอักเสบของกระดูก ซึ่งน่าจะเป็นมาได้สักพัก ข้อสะโพกที่คุณหมอเปลี่ยนออก ลักษณะไม่เรียบและไม่มีเนื้อเยื่อของกระดูกอ่อน หลงเหลืออยู่เลย สมควรแล้วที่จะต้องเปลี่ยน 

หลังเปลี่ยนข้อสะโพก 2 เดือน ถ้ากระดูกและอุปกรณ์ที่เปลี่ยนเชื่อมกันดี ดิฉันก็จะสามารถกลับไปเดินป่าเขา แบบที่เราชอบได้

คุณหมอเอากระดูกที่ตัดออกมาโชว์ และอธิบายให้ฟังว่าสภาพกระดูกแย่มากแล้ว 













ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Norway

ไอซ์แลนด์ อีกทริปที่ต้องตื่นตัวสุด ๆ ICELAND